บทความ
กรรมการรัฐวิสาหกิจ 'ธรรมเนียมหรือหายนะ'
โดย ACT โพสเมื่อ Aug 03,2019
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้โพสต์บทความในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อว่า 'มานะ นิมิตรมงคล' ถึงการดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย
เป็นเรื่องจริงที่กรรมการรัฐวิสาหกิจต้องพากันลาออกเมื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี เพราะถ้าไม่ลาออกก็จะถูกบีบให้ออก แต่ธรรมเนียมปฏิบัตินี้มีเพื่อ “ประโยชน์อะไร” กับ “ใคร” กันแน่? เพราะไม่ง่ายเลยกับการที่ต้องสรรหากรรมการใหม่ให้ครบทุกรัฐวิสาหกิจ ราว 600 คนและอาจเกิน 1,000 คนเมื่อนับรวมบริษัทลูกด้วย ซึ่งควรเป็นคนเก่ง ดี ตั้งใจและรับผิดชอบในการทำหน้าที่กำกับดูแล กำหนดนโยบายและใช้อำนาจในการอนุมัตินโยบายและโครงการได้อย่างมืออาชีพ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ที่มีมากมาย
เป็นกรรมการเพื่ออะไร..
นักการเมืองนิยมแต่งตั้งพวกพ้องเข้ามามีตำแหน่งเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณกัน บ่อยครั้งจึงพบว่าตั้งคนไม่มีความรู้ที่เป็นประโยชน์อะไรเลยต่อรัฐวิสาหกิจ และเพราะคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจมีอำนาจในการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล อนุมัติการสั่งซื้อและการลงทุน การส่งคนไปคุมไว้จึงเป็นจุดเริ่มต้นการครอบงำแทรกแซงรัฐวิสาหกิจในอนาคต
ด้วยระบบราชการไทย ยังทำให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องเสียเวลาวิ่งเต้นเอาใจรัฐมนตรีต้นสังกัดให้ช่วยผลักดันเรื่องให้ ครม.อนุมัติโครงการ อนุมัติงบประมาณ ทำให้ต้องเกรงอกเกรงใจหรือต้องให้ความร่วมมือ ยอมให้นักการเมืองล้วงลูก เป็นต้นว่า แต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการกองถึงระดับฝ่ายหรือสำนัก การให้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ งบการตลาด งบอุดหนุนการกุศล ไปใช้ในกิจกรรมที่นักการเมืองร้องขอ
บทเรียนเจ็บปวดของคนไทย..
ในภาพรวม รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 45 แห่งมีงบลงทุนราว 1.24 แสนล้านบาท มีรายได้กว่า 4 ล้านล้านบาท มีลูกจ้างพนักงาน 3.3 แสนคน หลายแห่งยังมีอำนาจในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการที่สร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจจำนวนมาก ทำให้ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจกลายเป็นช่องทางหาประโยชน์ของนักการเมืองและผู้บริหารที่ฉ้อฉลในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุน/ร่วมลงทุน การให้สิทธิ/สัมปทาน ดังที่เคยเกิดขึ้นในกรณี การซื้อเครื่องบินของการบินไทย โครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะฯ การปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย เป็นต้น
บ่อยครั้งมีการใช้เงินทำโครงการใหม่ๆ ที่หวังเพียงสร้างคะแนนนิยมกับฐานเสียงของพรรคการเมือง โดยไม่สนใจว่าโครงการนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่ จะเสียหายหรือขาดทุนเพียงใด ไม่สนใจด้วยว่าแผนดำเนินงานและยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจนั้นจะวางไว้อย่างไร เช่น การสร้างสนามบินในบางจังหวัด
ใครเป็นกรรมการได้บ้าง..
กรรมการรัฐวิสาหกิจจำนวนมากมาอย่างเหมาะสม ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการถูกส่งมาทำหน้าที่โดยตำแหน่ง อีกส่วนเป็นบุคคลภายนอกซึ่งอาจเป็น นักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการเกษียณ รวมทั้งนักการเมืองและคนของนักการเมือง
กฎหมายมักกำหนดให้เป็นกรรมการได้กี่ปี บางแห่งอาจกำหนดให้หมดวาระเมื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี บางแห่งมีการจับสลากออกบางส่วนเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง หลายคนมีความเห็นว่าควรให้อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 2-3 ปี เพราะนานกว่านั้นอาจมีการสร้างอิทธิพลและเครือข่ายขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนบ่อย วาระทำงานสั้นจะเสียโอกาสเพราะแม้แต่นักบริหารเก่งๆ ยังต้องเข้ามาใช้เวลาเรียนรู้ประกอบการดูงาน ฟังบรรยายสรุป 1 - 3 เดือน จึงจะเริ่มทำหน้าที่ได้ดี
บทสรุป..
ขอให้ท่านรัฐมนตรีทั้ง 10 กระทรวงที่มีรัฐวิสาหกิจในสังกัด ตระหนักว่าวันนี้ท่านไม่สามารถจิ้มเลือกคนของตัวเองไปลงตำแหน่งได้ง่ายๆ เช่นอดีตอีกแล้ว เพราะเพิ่งมีการประกาศใช้ “พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562” ดังนั้น หากวันนี้กรรมการรัฐวิสาหกิจต่างลาออกกันหมด จะสามารถหาคนใหม่มาแทนด้วยกฎเกณฑ์ วิธีการใหม่นี้ได้ทันเวลาหรือไม่
รัฐวิสาหกิจเป็นสมบัติของชาติ หลายปีมานี้จึงมีความพยายามปฏิรูปให้เป็นองค์กรที่ให้บริการประชาชนและทำธุรกิจได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นของ “คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.)” อดีตผู้อำนวยการ สคร. คุณกุลิศ สมบัติศิริ ที่วางมาตรการความโปร่งใสและธรรมาภิบาล คุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่เน้นเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีความสามารถหลากหลายเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ และผู้อำนวยการคนปัจจุบัน คุณประภาศ คงเอียด ที่กระชับกฎ กติกาและผลักดันกฎหมายการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่จนสำเร็จ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
หมายเหตุ:
1. งบลงทุน รสก. ปี 2562 https://www.posttoday.com/finance/news/594716
2. จำนวนพนักงานลูกจ้าง รสก. 65 แห่ง http://relation.labour.go.th/2018/attachments/category/80/001.pdf
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน